Last updated: 24 ต.ค. 2565 | 18695 จำนวนผู้เข้าชม |
กลากเกลื้อนคืออะไร ?
กลากและเกลื้อน คือ โรคผิวหนัง 2 ชนิดที่อาจพบได้บ่อย อาจสังเกตได้จากผิวหนังมีตุ่ม หรือรอยผื่นแดงเป็นดวงที่มีขอบเป็นสะเก็ด มีอาการคัน สามารถเกิดขึ้นบนผิวหนังได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น แขน หลัง ลำคอ
โรคกลากและโรคเกลื้อน เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราบนผิวหนังภายนอกที่พบเห็นได้บ่อยๆ จนหลายคนแยกไม่ออกว่าอาการแบบไหนคือโรคกลากและแบบไหนคือโรคเกลื้อน ยิ่งใครที่ไม่ได้ไปหาหมอแต่ซื้อยามาเอง นอกจากโรคจะไม่หายยังอาจทำให้ผิวหนังติดเชื้อลุกลามได้ เราจึงจะมาให้ข้อมูลการสังเกตลักษณะอาการที่แตกต่างของทั้งสองโรคนี้มาฝาก
กลาก: เกิดจากการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้ที่เป็น มีผิวหนังเปียกชื้นนาน พบบ่อยบริเวณลำตัว เท้า ขาหนีบ มีลักษณะเป็นวงขอบสีแดงนูนเล็กน้อย มักมีอาการคัน เกิดได้ง่ายหากร่างกายเปียกอยู่เป็นเวลานาน เช่น เล่นน้ำสงกรานต์ หรือลุยน้ำ
หนังศีรษะ/เส้นผม : มีผื่นเป็นวงกลมมีขอบเขต มีสะเก็ด ขุย ขาว เส้นผมร่วง อาจมีตุ่มหนอง
ใบหน้า/ลำตัว/แขน/ขา : ผื่นเป็นวงแหวน ขอบเขตชัดเจน มีขุยที่ขอบ ขอบขยายออกเรื่อยๆ
มือ/เท้า : มีผื่นเป็นวง มีขอบเขตชัดเจน มีขุยที่ขอบ ง่ามนิ้วเปื่อยยุ่ย มีกลิ่น
เล็บมือ/เล็บเท้า : สีขาวขุ่น เล็บขรุขระ เล็บหนาขึ้น เล็บอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
เกลื้อน : เกิดตามผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เหงื่อออกมาก ลักษณะผื่นเป็นดวง ผื่นมีสีขาว หรือสีน้ำตาล หรือสีชมพูแดง หรือเป็นวงรีเล็กๆหลายอัน แต่มักไม่คัน มีการขยายขนาดเป็นผื่นใหญ่ได้ และมักจะเกิดช่วงอากาศร้อนขณะที่มีเหงื่อออกเยอะ เช่น หลังเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย หรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
กลากกับเกลื้อน แตกต่างกันอย่างไร ?
ถึงแม้ว่ากลากกับเกลื้อน จะมีสาเหตุ ปัจจัย และอาการแรกเริ่มที่คล้ายกัน แต่หากสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่าอาจมีอาการบางอย่างที่แตกต่างกัน กลากมักเป็นผื่นกลมที่มีขอบนูนเป็นสะเก็ดสีแดง ชมพู น้ำตาล หรือเทา ซึ่งอาจกระจายตามผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา ลำตัว ก้น และมีอาการคัน และอาจพบบนหนังศีรษะ ซอกนิ้วเท้าได้ด้วย หากเป็นกลากที่หนังศีรษะอาจทำให้ผมร่วง มีแผลขนาดเล็ก และมีอาการเจ็บเมื่อสัมผัส
ส่วนเกลื้อน จะมีลักษณะเป็นจุดด่างสีขาว ชมพู แดง หรือน้ำตาลขนาดเล็กหรือใหญ่ประมาณ 1-4 นิ้ว ซึ่งอาจปรากฏเป็นสีอ่อนหรือสีเข้มกว่าสีผิวโดยรอบ พบได้มากบริเวณคอ หน้าอก แขน หลัง บางคนอาจมีอาการคัน เป็นสะเก็ด และมีอาการบวมแดงร่วมด้วย
สาเหตุของการเกิดกลากเกลื้อน
กลากเกิดจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจนรูปร่างคล้ายวงแหวนมีขุยที่ขอบวงแหวน มีอาการคัน เกิดได้หลายตำแหน่ง ของร่างกาย เช่น ศีรษะ หน้า ลำตัว แขนขา มือ เท้า ขาหนีบ และเล็บ การติดต่อของโรคกลากเกลื้อนสามารถติดต่อได้โดยจากการสัมผัสโดยตรง เช่น ใช้เสื้อผ้า ผ้าขนหนู หรือรองเท้าร่วมกันและถ้าเล่นกีฬาเหงื่อออกมาก หมักหมมไว้นานจะเกิดเกลื้อนขึ้นได้ง่าย
แต่สาเหตุของโรคเกลื้อนเกิดจากเชื้อยีสต์กลุ่ม Pityrosporum obiculare ลักษณะเป็นผื่นดวงขาวค่อนข้างชัด บางครั้งมีสีออกน้ำตาล มักจะมีอาการคันแต่น้อยกว่ากลาก แต่จะมีอาการคันเวลามีเหงื่อออกหรือเวลาที่อากาศร้อนมากๆ และมักเป็นบริเวณผิวหนังลำตัว หลังต้นแขน จะไม่เป็นที่มือ เท้า ขา และศีรษะ ต่างกับโรคกลาก
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้ของใช้ร่วมกันกับคนอื่น หมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเช็ดตัวให้แห้ง ที่สำคัญคือ ป้องกันอย่าให้เกิดความอับชื้นในบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
โรคกลากและเกลื้อน แม้ว่าจะไม่ร้ายแรงและสามารถรักษาหายได้เอง แต่โรคเหล่านี้มักจะหายช้า ต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลานาน ดังนั้นหากสามารถดูแลและป้องกัน สร้างสุขอนามัยที่ดี โดยหลังจากการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ควรจะรีบล้างมือให้สะอาด ล้างทุกซอกทุกมุม เท่านี้ก็จะสามารถป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคกลากและเกลื้อนได้
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/480331
https://hellokhunmor.com/%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%82%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9c%e0%b8%b4%e0%b8%a7/%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%9c%e0%b8%b4%e0%b8%a7%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b9%80%e0%b8%8a%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad/%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3-%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%99-%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%b2/
http://www.trangskin.go.th/tinea-observe/
https://www.pornkasemclinic.com/knowledge/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AA/
24 ต.ค. 2565
24 ต.ค. 2565
24 ต.ค. 2565
24 ต.ค. 2565