โรคซึมเศร้า (depressive disorder)

Last updated: 24 ต.ค. 2565  |  1327 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคซึมเศร้า (depressive disorder)

โรคซึมเศร้า (depressive disorder)


โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย มีลักษณะการเจ็บป่วยแบบเรื้อรัง มักมีอาการเป็นช่วงๆและกลับมาเป็นซ้ำได้ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 350 ล้านคน1 และเป็น 1 ใน 15  โรคสาเหตุหลักของเกิดภาระโรคและการสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควรและความบกพร่องทางสุขภาพ2 


อารมณ์เศร้า ภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า

อารมณ์เศร้า (sadness) หมายถึง อารมณ์ที่ตอบสนองทางด้านลบเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งกระตุ้นหรือเหตุการณ์ใน  ด้านลบ เช่น การผิดหวัง การถูกปฏิเสธ หรือการสูญเสีย โดยอาจถูกบอกเล่าในชื่อเรียกของอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น เศร้า     หดหู่ใจ ทรมานใจ มักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และมีการคงอยู่ของอารมณ์เพียงช่วงเวลาหนึ่งอย่างเหมาะสม ไม่นานเกินไป1 

ภาวะซึมเศร้า (depression) หมายถึง อารมณ์เศร้าที่มากเกินควรหรือนานเกินไป รวมถึงอารมณ์เศร้าที่เกิดจาก   สิ่งกระตุ้นสมมติ เช่น การคาดการณ์ล่วงหน้าหรือคิดไปเอง โดยไม่ได้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ที่แม้ว่าจะได้รับการอธิบายด้วยเหตุผลหรือกำลังใจ ก็มักไม่ทำให้อารมณ์ดังกล่าวดีขึ้น ทั้งนี้ยังส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงานและการเข้าสังคม โดยมักเกิดร่วมกับความรู้สึกด้อยค่า ความรู้สึกผิดหรือความอยากตาย หากมีภาวะซึมเศร้ารุนแรงจะมีอาการทางกายแสดงร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลดหรือความอยากอาหารมากขึ้น การเคลื่อนไหวช้าหรืออยู่ไม่สุข การนอนหลับผิดปกติ เป็นต้น1,3 

โรคซึมเศร้า (depressive disorder) หมายถึง กลุ่มอาการความผิดปกติด้านอารมณ์ที่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัย ICD (International Classification of Diseases and health related problems) ซึ่งพัฒนาโดย องค์การอนามัยโลก หรือ DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental disorders) ที่พัฒนาโดย สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน โรคซึมเศร้ามีลักษณะสำคัญ คือ อารมณ์เศร้าหรือความรู้สึกว่างเปล่า (ความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมที่มักทำในปกติหรือชอบหมดลง) ร่วมกับอาการทางกายหรือการเปลี่ยนแปลงของภาวะรู้คิด (cognition) ทั้งนี้อาจมีอารมณ์ทางลบอื่น เช่น ความรู้สึกด้อยค่า หงุดหงิด ร่วมด้วย โดยอาการดังกล่าวมักเกิดเกือบทั้งวัน เกือบทุกวัน ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์และส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิต การทำงานและการเข้าสังคม 

ทั้งนี้อาการของโรคซึมเศร้าดังกล่าว ต้องไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากยา สารเคมี สารเสพติด โรคหรือความผิดปกติ    ทางกายใดๆ ไม่ได้เกิดจากโรคจิตเภทหรือโรคจิตเวชชนิดอื่น เช่น adjustment disorder, โรคอารมณ์สองขั้ว ภาวะสมองเสื่อม ภาวะเพ้อ โรควิตกกังวล หรือ ภาวะความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก (bereavement)4

โรคซึมเศร้าสามารถจำแนกย่อยออกเป็นหลายประเภทตามสาเหตุและหลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรค เช่น 

โรคซึมเศร้าหลัก (major depressive disorder; MDD)
โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (persistent depressive disorder/dysthymia)
Disruptive mood dysregulation disorder (DMDD)
Premenstrual dysphoric mood disorder (PMDD) 
Substance/medication-induced depressive disorder
Depressive disorder due to another medical condition 
Other specified depressive disorder1,3
สาเหตุของโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของปัจจัย 3 ปัจจัย ได้แก่

ปัจจัยด้านชีวเคมีในสมอง ความผิดปกติของสมดุลการทำงานของสารสื่อประสาทกลุ่ม monoamine ได้แก่ norepinephrine และ serotonin ส่งผลให้เซลล์ประสาทในสมองที่ควบคุมการทำงานของอารมณ์ผิดปกติไป นอกจากนั้นยังพบว่าการที่ dopamine ในสมองต่ำกว่าปกติ อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า ในขณะที่เมื่อ dopamine สูงกว่าปกติ กลับมีความเกี่ยวข้องกับภาวะ mania ซึ่งพบในโรคอารมณ์สองขั้ว
ปัจจัยด้านพันธุกรรม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 2 และพบว่าบุคคลที่มี      การเปลี่ยนแปลงของยีนที่เกี่ยวข้องกับ serotonin จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคซึมเศร้า เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตในชีวิต ทั้งนี้เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของครอบครัวกับโรคซึมเศร้าพบว่า หากคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสในการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าบุคคลทั่วไปถึง 2.8 เท่า 
ปัจจัยด้านจิตสังคม การค้นหาเหตุการณ์หรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจหรือเศร้าใจ รวมถึงการให้ค่าหรือความหมายต่อเหตุการณ์หรือสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้อธิบายความเชื่อมโยงด้านจิตสังคมและโรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ควรพิจารณาปัจจัยด้านบุคลิกภาพ ชุดรูปแบบความคิดที่บิดเบือนไป รวมถึงกลไกแก้ปัญหาร่วมด้วย1,3

การรักษาโรคซึมเศร้า แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังแสดงในตาราง1,5,6

ระยะการรักษา
ระยะเวลา
เป้าหมายการรักษา
แนวทางการรักษา
1. ระยะเฉียบพลัน (acute)
8-12 สัปดาห์
การบรรเทาอาการซึมเศร้าจนเข้าสู่ระยะไม่มีอาการ (remission) 
ป้องกันความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น (ถ้ามี)
การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา
การฟื้นฟูการทำหน้าที่ในการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงาน ครอบครัวและสังคม
การสร้างสัมพันธภาพเพื่อการบำบัดรักษา
การให้สุขภาพจิตศึกษา (psychoeducation)
การพิจารณาและปรับการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าหรือการรักษาแบบอื่นอย่างเหมาะสม
การวิเคราะห์ถึงสาเหตุ รวมทั้งปัจจัยทางจิตสังคม เพื่อร่วมกันหาวิธีการจัดการอย่างเหมาะสม
การติดตามการดำเนินของโรค
2. ระยะต่อเนื่อง (continuation)
6-9 เดือน
การทำหน้าที่และคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นและกลับคืนสู่ระดับปกติ 
การป้องกันการกำเริบ (relapse) ในระยะต่อเนื่อง และการกลับมาเป็นซ้ำ (recurrence) เมื่อเข้าสู่ระยะคงสภาพ
การได้รับความรู้และการสนับสนุนในการบริหารจัดการตนเอง 
การฟื้นฟูสมรรถภาพ (rehabilitate)
การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าหรือการรักษาแบบอื่นอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
การรักษาโรคร่วม
การติดตามการกลับมาเป็นซ้ำ
3. ระยะยาว/ระยะคงสภาพ (maintenance)
6-24 เดือน หรือนานกว่านั้น



เอกสารอ้างอิง

1.มุทิตา พนาสถิตย์. โรคซึมเศร้า. ใน: ธรรมนาถ เจริญบุญ, วินิทรา นวลละออง, กันต์กมล จัยสิน, บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชศาสตร์ ธรรมศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2562. หน้า 143-53.

2. GBD 2019 Diseases and Injuries collaborator. Global burden of 369 diseases and injuries in 204 countries and territories, 1990-2019: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2019. Lancet 2020;396:1204-22.

3. กมลเนตร วรรณเสวก. กลุ่มโรคอารมณ์สองขั้วและกลุ่มโรคซึมเศร้า. ใน: นันทวัช สิทธิรักษ์, กมลเนตร วรรณเสวก, กมลพร วรรณฤทธิ์, ปเนต ผู้กฤตยาคามี, สุพร อภินันทเวช, พนม เกตุมาน, บรรณาธิการ. จิตเวช ศิริราช DSM-5. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; 2559. หน้า 379-410.

4. พิชัย อิฏฐสกุล, ศิริไชย หงษ์สงวนศรี. โรคซึมเศร้า. ใน: มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์, บรรณาธิการ. จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล; 2558. หน้า. 167-89.

5. Kennedy SH, Lam RW, McIntyre RS, Tourjman SV, Bhat V, Blier P, et al. Canadian Network for Mood and Anxiety Treatments (CANMAT) 2016 clinical guidelines for the management of adults with major depressive disorder: section 3. Pharmacological treatments. Can J Psychiatry 2016;61:540-60.

6. Yatham LN, Kennedy SH. Mood Disorders: Pharmacological treatment of depression and bipolar disorders. In: Sadock BJ, Sadock VA, Ruiz P, editors. Kaplan & Sadock's Comprehensive Textbook of Psychiatry. 10 ed. Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; 2017. p. 1677-701.



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้