กล้ามเนื้อฉีก (Muscle strain)

Last updated: 9 ธ.ค. 2562  |  119685 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กล้ามเนื้อฉีก (Muscle strain)


        กล้ามเนื้อฉีก (Muscle Strain) คือ ภาวะที่เส้นใยกล้ามเนื้อบาดเจ็บ หรือฉีกขาด จากการถูกใช้งานอย่างหนัก หรือถูกยืดมากเกินไป ภาวะนี้เกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อทุกส่วน และเกิดได้กับคนทุกวัย ซึ่งปัญหาที่เกิดจากกล้ามเนื้อฉีก คืออาการเจ็บปวดอย่างมาก จนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดังใจ


อาการของกล้ามเนื้อฉีก

        อาการทั่วไปของกล้ามเนื้อฉีก คือผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ หรือปวดที่กล้ามเนื้อมัดนั้นอย่างรุนแรงโดยเฉพาะเวลาออกแรง หรือใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้น บางครั้งอาจเจ็บมากจนถึงขั้นเคลื่อนไหวไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไป กล้ามเนื้อส่วนนั้นจะเริ่มบวม และมีสีคล้ำขึ้น หรือเกิดรอยฟกช้ำ 


สาเหตุของกล้ามเนื้อฉีก

        เกิดอุบัติเหตุที่กล้ามเนื้อ เช่น ถูกชน หรือถูกกระแทกอย่างแรงใช้งาน กล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น ยกของหนักเกินกำลัง ใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้นซ้ำ ๆ เช่น ผู้ทำงานแบกหาม ที่ใช้กล้ามเนื้อส่วนเดิมอย่างหนักเป็นเวลานาน การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาหักโหมเกินไป และไม่มีการยืดคลายกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี


วิธีรักษากล้ามเนื้อฉีก

  1. พักการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บเสียหายมากขึ้น และให้เส้นใย กล้ามเนื้อได้ฟื้นคืนสภาพ เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายแล้วบาดเจ็บ ควรหยุดออกกำลังทันทีที่รู้สึกเจ็บ
  2. พันผ้ารอบกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ  การใช้ผ้ายืด (Elastic Bandage) พันรอบมัดกล้ามเนื้อ จะช่วยลดอาการบวม อักเสบ และห้อเลือดได้
  3. ประคบเย็น  เพื่อลดอาการบวม ปวด และป้องกันไม่ให้เลือดออก แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรให้ผิวสัมผัสกับของเย็นโดยตรง เพราะ ความเย็นจัดจะทำให้หลอดเลือดหดตัว และเกิดกล้ามเนื้อขาดเลือดได้
  4. ยกกล้ามเนื้อส่วนที่ฉีก ในกรณีที่กล้ามเนื้อมัดนั้นสามารถยกได้ เช่น กล้ามเนื้อขาหรือแขน ให้เรายกกล้ามเนื้อส่วนนั้นไว้ในระดับเหนือกว่าหัวใจ เช่น วางพาดเก้าอี้ จะเป็นการช่วยลดความบวม และลดเลือดคั่งในบริเวณที่บาดเจ็บได้


การป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อฉีก
  1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม และควรวอร์มร่างกาย ยืดคลายกล้ามเนื้อให้ถูกวิธี ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย
  2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัด เดิมนาน ๆ ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม 
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ลื่นล้ม หรือสะดุด และไม่วางของที่พื้นเกะกะ
  4. จัดท่านั่ง และท่ายืนให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อตึงเกินไป
  5. ลดน้ำหนัก อย่าให้น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม




        อาการกล้ามเนื้อฉีกหากอยู่ในระดับเบาจนถึงปานกลาง ก็สามารถรักษาและกล้ามเนื้อจะหายได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่หากอาการรุนแรง หรือคุณยังคงรู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน โดยอาการไม่ทุเลาลง คุณควรจะไปพบแพทย์และทำกายภาพบำบัด เพื่อทำการรักษาฟื้นฟูกล้ามเนื้อ รวมถึงการเคลื่อนไหวให้กลับมาหายเป็นปกติ

 ปรึกษาปัญหาผู้สูงอายุ/กายภาพบำบัด  สอบถามบริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เบอร์ 099-441-4690086-955-8889) หรือ ติดต่อเรา 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้