กายภาพบำบัด ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

Last updated: 31 ม.ค. 2563  |  4407 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กายภาพบำบัด ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

กายภาพบำบัด ในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากการหักของกระดูกจากการล้ม, การขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณหัวกระดูกสะโพกทำให้เนื้อกระดูกตาย หรือมีการเสื่อมของข้อสะโพกในระดับที่รุนแรง การรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล จึงต้องรับการผ่าตัดเพื่อใส่ข้อสะโพกเทียม



ความสำคัญของการกายภาพบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มนี้

1.     ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อสะโพกส่วนใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดช้า และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

2.     หลังการผ่าตัดผู้ป่วยมักจะไม่ทำการเคลื่อนไหว เนื่องจากมีอาการเจ็บปวด ซึ่งจะส่งผลให้มีการจำกัดการเคลื่อนไหว มีการยึดติดของข้อ และการหดรั้งรั้งของเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง

3.     การเคลื่อนไหวบางอย่าง ไม่สามารถทำได้ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยและญาติอาจไม่ทราบ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการเลื่อนหลุดของข้อสะโพก ทำให้ต้องมีการผ่าตัดซ้ำ

4.     เป้าหมายในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกนั้น คือเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น สามารถยืน เดิน และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ไปถึงเป้าหมายนั้น เนื่องจากไม่ได้รับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด จนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ขึ้น จนบางรายกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หลังผ่าตัดข้อสะโพก

-         การติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด

-         การเลื่อนหลุดของข้อเทียม

-         กล้ามเนื้ออ่อนแรง

-         การเกิดแผลกดทับ

-         การหักของกระดูกบริเวณใกล้เคียงกับข้อเทียม

-         เกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา เนื่องจากการไม่เคลื่อนไหวนาน ๆ

-         อาการข้อติด งอสะโพกได้น้อย

-         การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ, ทางเดินปัสสาวะ

การทำกายภาพบำบัด ประกอบด้วย

1.     การฝึกหายใจ (Breathing exercise)

2.     การให้ผู้ป่วยกระดกเท้าขึ้นลง (Pumping exercise) เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดจากการนอนนาน ๆ

3.     การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Active exercise/ Strengthening exercise)

4.     การฝึกเดิน (Ambulation) โดยเริ่มจากการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินตามความเหมาะสม ซึ่งการลงน้ำหนักของขาที่ผ่าตัด จะแตกต่างกันไปตามประเภทของข้อเทียมที่ใช้

5.     สอนในเรื่องการเปลี่ยนท่าทางและการจัดท่าทางในการลุกนั่ง ยืน เดินที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเลื่อนหลุดของข้อ

นอกจากการทำกายภาพบำบัดในช่วงแรกหลังการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยต้องมีการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ควรมีการออกกำลังกาย และฝึกเดินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เป้าหมายของการผ่าตัดบรรลุผลสำเร็จ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยที่ไม่มีอาการปวด

อยู่สุข ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และคลินิกกายภาพบำบัด ยินดีให้คำปรึกษาทุกท่าน โดยไม่คิดค่าบริการ หรือสนใจสอบถามบริการ ติดต่อเราได้ที่เบอร์ 099-4414690 หรือ 086-9558889


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้